สามารถดูสินค้าจริงได้ที่ Euphoria Thailand ทุกสาขา
เกริ่นชื่อเรื่องขึ้นมาแบบนี้ มาเอาใจวัยรุ่นกันหน่อย .. พอย่างเขาสู่วัยรุ่น สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ “สิว” ที่มาปรากฏกายบนใบหน้า ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่อง “สิว..สิว” ก็ตาม มีเรื่อง “สิว..สิว” ที่ไม่ค่อยสิวมาฝากกัน
เรามาทําความเข้าใจกันก่อนว่าสิวคืออะไร?
สิว คือ เม็ดตุ่มหรืออาการอักเสบที่เกิดจากการอุดตันของสิ่งสกปรกในรูขุมขน (Hair follicles) โดยรูขุมขนเป็นที่อยู่ของขน มีลักษณะเป็นท่อล้อมรอบรากขนเอาไว้ มีหน้าที่รักษาสมดุลของหนังกำพร้า (Epidermis) และการหายของแผล
ซึ่งจะมีท่อต่อมไขมันเปิดเข้ามาในรูขุมขนเพื่อส่งน้ำมัน (Sebum) ที่ผลิตจากต่อมน้ำมันออกสู่ผิวด้านนอก ด้วยเหตุนี้หากมีสิ่งสกปรกใดมาอุดตันอยู่ในรูขุมขนก็จะทำให้เกิดการปิดกั้นน้ำมันที่ต้องออกมาที่ผิวหนังตามธรรมชาติ จึงเกิดการอักเสบหรือปูดนูนที่รูขุมขนและต่อมไขมันเราอาจพบไขมันที่สะสมอยู่ในสิวประเภท สิวหัวดำ สิวเสี้ยน และสิวมีหัวแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้อาจเกิดสิวหัวหนองหรือสิวประเภทที่มีหนองอยู่ภายในอันเนื่องมาจากมีเชื้อโรคเข้าไปปะปนอยู่ในสิว ซึ่งอาจเกิดจากการบีบสิว การสัมผัสบริเวณที่เป็นสิวบ่อย ๆ หรือการที่เชื้อโรคสะสมร่วมกับสิวอยู่แล้ว การเกิดหนองจะทำให้สิวมีอาการอักเสบรุนแรง รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งอาจต้องมีการเอาหนองจากในหัวสิวออกแบบถูกวิธีหรืออาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน
ประเภทและชนิดของสิว
ถ้าจะให้จำแนกประเภทของสิวออกเป็นหมวดใหญ่ๆ จะสามารถแบ่งได้สองหมวด คือ สิวอุดตัน (สิวที่ไม่อักเสบ) และสิวอักเสบ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ค่อนข้างมีความแตกต่างกันนะ หลายๆ คนมักจะเรียกสิวอุดตันว่าสิวอักเสบไปด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ ต้องระวังการเรียกให้ดีๆ ไม่อย่างนั้น สกินแคร์ ที่นำมารักษา อาจรักษาไม่ตรงจุดได้ ซึ่งสิวอุดตันและสิวอักเสบจะแตกต่างกันอย่างไรนั้น เดี๋ยวเล่าให้ฟัง
สิวมีหลายชนิด แต่สามารถแบ่งคร่าวๆ ได้ 8 ชนิดตามลักษณะที่พบ ได้แก่
1. สิวหัวดำ (Blackheads)
สิวหัวดำ คือ สิวที่มีการสะสมของเม็ดสีเมลานินเฉพาะจุดมากเป็นพิเศษ ทำให้เห็นเป็นหัวดำที่พื้นผิวหนัง ภายในสิวหัวดำมักมีไขมันสะสมอยู่ อาจมีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีเหลืองใสหรือเนื้อเหลวสีขาวขุ่นก็ได้ ซึ่งไขมันที่อยู่ในสิวหัวดำมาจากน้ำมันที่ผลิตออกมาจากต่อมไขมันแต่โดนปิดกั้นโดยสิ่งสกปรกและสะสมอยู่ในนั้น
2. สิวหัวขาว (Whiteheads)
สิวหัวขาว คือ สิวที่มีลักษณะเป็นเม็ดตุ่ม ไม่มีหัวเปิดที่สิว และมีสีขาวทั่วทั้งเม็ด ภายในสิวมีไขมันสะสมอยู่เช่นเดียวกับสิวหัวดำ เป็นสิวที่มีลักษณะคล้ายกับสิวหัวดำมาก แต่ไม่มีการสะสมตัวของเม็ดสีเมลานิน จึงไม่มีสีดำให้เห็นบนหัวสิว
3. สิวอุดตันขนาดเล็ก (Comedones)
สิวอุดตันขนาดเล็ก คือ สิวที่มีการอุดตันในรูขมขน มีไขมันอยู่ภายในสิว อาจมีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ แต่ไม่มีการอักเสบ สิวอุดตันขนาดเล็กมีหลายรูปแบบ เช่น มีลักษณะเป็นสิวเสี้ยน สิวเม็ดข้าวสาร สิวผด หรือสิวอุดตันที่มีก้อนและเนื้อไขมันอยู่ข้างในแต่ไม่มีอาการอักเสบ
4. สิวอักเสบ แบบตุมนูนแดง (Papules)
สิวอักเสบ แบบตุ่มนูนแดง หรือ สิวตุ่มขนาดเล็ก คือ สิวที่ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ตัวสิวเป็นสีแดง มีการอักเสบ เมื่อใช้นิ้วกดลงที่สิวจะมีสัมผัสที่นุ่มแต่ก็รู้สึกเจ็บ สิวชนิดนี้อาจพัฒนาเป็นสิวตุ่มขนาดใหญ่และสิวตุ่มมีหนองร่วมได้ และหากรักษาไม่ดีหรือมีการแกะเกาจนเกิดการติดเชื้อ ก็อาจทำให้สิวลุกลามทั่วทั้งใบหน้าได้
5. สิวหัวหนอง (Pustules)
สิวหัวหนอง หรือ สิวตุ่มมีหนองร่วม คือ สิวที่มีการอักเสบและติดเชื้อร่วมด้วย มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง มีหัวสีขาวหรือสีเหลืองที่เห็นได้ชัดเจนซึ่งตรงส่วนนั้นคือหัวหนอง รู้สึกเจ็บเมื่อกด หรือหากมีการอักเสบมากก็อาจจะรู้สึกเจ็บได้ตลอดเวลา อาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง 1.5 ซม. เลยทีเดียว เมื่อสิวแก่หัวสิวจะเปิดออก หนองที่หัวสิวจะไหลออกมาและสิวก็จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด สิวประเภทนี้หากรักษาไม่ดีหรือมีการบีบแกะสิวที่รุนแรงอาจทำให้เป็นรอยสิวและหลุมสิวได้
6. สิวหัวช้าง (Nodules)
สิวหัวช้าง หรือ สิวตุ่มใหญ่ คือ สิวที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง อาจมีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางครั้งอาจพบหลายหัวในหนึ่งตุ่ม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บหรือหากอักเสบมากอาจเจ็บตลอดเวลา อาจจะขึ้นเป็นเม็ดแข็งหรือนุ่มก็ได้ หากรักษาสิวชนิดนี้ไม่ดีอาจทำให้เกิดรอยสิวและหลุมสิวขนาดใหญ่ได้
7. ซีสต์ (Cysts)
ซีสต์ คือ สิวที่มีขนาดใหญ่มาก มีการอักเสบอย่างรุนแรง ภายในอาจมีหนองและเลือดผสมกันอยู่ รู้สึกเจ็บปวดตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัส ส่วนใหญ่แล้วสิวประเภทนี้จะเกิดนาน ๆ ครั้งและเมื่อเกิดก็จะมีเพียง 1 เม็ดบนใบหน้าเท่านั้น ซึ่งอาจพัฒนามาจากสิวหัวหนองและสิวตุ่มใหญ่ที่มีการรักษาที่ไม่ดีหรือมีการติดเชื้อ จึงทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น
8. สิวผด (Acne vulgaris)
สิวผด คือ สิวที่มีลักษณะคล้ายผดผื่น เม็ดเล็ก สีแดง ไม่อักเสบ อาจมีอาการคันหรือแสบบริเวณที่เป็นสิว มักเกิดหลายเม็ด บางครั้งอาจเกิดเฉพาะจุด เช่น บริเวณหน้าผาก แก้ม หรือลำคอ บางครั้งก็อาจเกิดทั่วทั้งใบหน้าเลยก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในช่วงหน้าร้อน อาจเกิดจากความร้อน เหงื่อ ความมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้วที่ไม่ยอมหลุดออก และเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในรูขุมขนจนทำให้เกิดตุ่มนูนแต่ไม่เกิดการอักเสบ
สิวเกิดจากอะไร
1. สภาพผิวหน้า
สภาพผิวที่เป็นสิวง่ายที่สุดคือ ผิวมันและผิวผสม เนื่องจากผิวประเภทนี้มีต่อมไขมันจำนวนมากกว่าผิวประเภทอื่น จึงทำให้เกิดความมันส่วนเกินที่ผิวบ่อย อีกทั้งผิวมันอาจมีต่อมไขมันและรูขุมขนที่มีขนาดใหญ่กว่าสภาพผิวอื่น หลายคนจึงอาจมีปัญหารูขุมขนกว้างร่วมด้วย ซึ่งการที่รูขุมขนมีขนาดกว้างก็จะทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าไปอุดตันได้ง่ายขึ้น
2. บริเวณทีโซน (T-Zone)
ทีโซน คือ บริเวณที่ไล่ลงมาตั้งแต่ส่วนหน้าผาก จมูก และคาง หากนิ้ววาดทั้งสามส่วนนี้จะเห็นว่าคล้ายรูปตัว T บริเวณทีโซนนี้เป็นบริเวณที่มีรูขุมขนมากกว่าส่วนอื่นบนใบหน้า (สังเกตได้จากขนที่มีมากกว่าส่วนอื่น) ทำให้มีต่อมไขมันมากกว่าบริเวณอื่นไปด้วย เมื่อมีต่อมไขมันมากจึงทำให้มีความมันส่วนเกินในบริเวณนี้มาก จึงมีโอกาสการเกิดสิวได้ง่ายขึ้น
3. หน้ามันมาก
น้ำมันบนใบหน้า (Sebum) ที่มากเกินไปหรือความมันส่วนเกินจนทำให้หน้ามันมาก เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดสิวเลยทีเดียว เพราะน้ำมันสามารถจับสิ่งสกปรก อย่างเช่น ฝุ่น ควัน หรือละอองสกปรกได้ดี หากอยู่รวมกับเครื่องสำอางหรือสารเคลือบผิวที่อยู่ในเครื่องสำอางและครีมกันแดดก็จะจับตัวกันเป็นก้อนและเข้าไปอุดตันในรูขุมขนได้ง่าย ทำให้ต้องเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดด้วยคลีนซิ่งก่อนล้างหน้าทุกครั้ง นอกจากนี้น้ำมันยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P. acne อีกด้วย โดยน้ำมันที่เคลือบอยู่บนผิวหน้าจะทำให้รูขุมขนไม่มีอากาศหรือออกซิเจนเข้าถึง ซึ่งเชื้อ P. acne สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสุญญากาศและจะกินไขมันแล้วปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาจนกลายเป็นสิวได้ในที่สุด
4. ฮอร์โมน
ไม่ใช่จะมีเพียงฮอร์โมนเพศเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสิว แต่ยังมีอีกหลายฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว สามารถอธิบายได้ดังนี้
- แอนโดรเจน (Androgen)
พบมากในเพศชาย มีส่วนที่ทำให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการผลิตน้ำมันที่ผิวหน้ามากขึ้นและเป็นสิว
- โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการตกไข่และการมีประจำเดือน ในช่วงก่อนหรือขณะมีประจำเดือนฮอร์โมนตัวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รูขุมขนบวมและเกิดสิวได้ง่าย
- คอร์ติซอล (Cortisol)
ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดและนอนดึก ทำให้ต่อมไขมันใหญ่ขึ้น เกิดความมันส่วนเกิน และเกิดสิวได้ง่าย
5. แบคทีเรีย หรือ สิ่งสกปรก
เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวคือ P. acnes หรือ Propionibacterium acnes โดย P. acnes จะเจริญเติบโตโดยการกินไขมันเป็นอาหารและในรูขุมขนที่มีการอุดตัน ไม่มีออกซิเจนผ่าน โดยจะปล่อยเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ออกมาย่อยไขมันที่อยู่ในรูขุมขน จนเกิดเป็นกรดไขมัน (Fatty acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวอักเสบและเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ P. acnes ยังปล่อยเอนไซม์อีกหลายตัวที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น โปรติเอส (Protease) และ ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase)
6. รูขุมขนอักเสบ รูขุมขนอุดตัน
รูขุมขนอักเสบ รูขุมขนอุดตัน เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- เซลล์ผิวที่ตายแล้ว
- สารเคลือบผิวที่จับเป็นก้อน
- ความมันส่วนเกิน
- ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ และ ควันพิษต่างๆ
โดยสิ่งสกปรกเหล่านี้จะเข้าไปอุดตันอยู่ในรูขุมขนและปิดกั้นไม่ให้น้ำมันไหลออกมาได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รูขุมขนเกิดปูดบวมและอักเสบ รวมถึงต่อมไขมันก็จะเกิดการอักเสบไปด้วยเนื่องจากต่อมไขมันมีการผลิตน้ำมันออกมาตลอดเวลา (อาจจะมากหรือน้อยแล้วแต่สิ่งเร้าที่เกิดขึ้น) แต่น้ำมันที่ผลิตไม่สามารถออกสู่ผิวด้านนอกได้จึงทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบรูขุมขนอุดตัน
สาเหตุการเกิดสิว
1. สิววัยรุ่น
วัยรุ่น (13-25 ปี) เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรุนแรง จากวัยเด็กก็จะเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนเพศอย่าง แอนโดรเจนในเพศชาย และ โปรเจสเตอโรนในเพศหญิง นอกจากจะทำให้เกิดความเป็นหนุ่มสาวแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้ต่อมไขมันขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวหน้าเริ่มมีความมันมากขึ้น รูขุมขนกว้างขึ้น และเกิดการอุดตันได้ง่าย
2. สิว ผู้ใหญ่
สิว ผู้ใหญ่ (25 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันในรูขุมขน เพราะในวัยผู้ใหญ่จะมีการ ผลัดเซลล์ผิว ที่แย่ลง เนื่องจากคอลลาเจนและโปรตีนใต้ชั้นผิวมีน้อยลง ทำให้มีความชุ่มชื้นบนผิวหน้าลดลงและเซลล์ขี้ไคลที่มีเคราตินเป็นส่วนประกอบก็จะไม่หลุดง่าย ๆ ทำให้เซลล์ขี้ไคลที่หมดอายุแต่ไม่ถูกผลัดออกเข้าไปสะสมอยู่ในรูขุมขนจนเกิดการอักเสบและเกิดเป็นสิว
3. สิวฮอร์โมน
สิวฮอร์โมน เป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมนเป็นหลัก ซึ่งมักมาจากฮอร์โมนเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนเป็นได้ทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การเกิดสิวมากน้อยแตกต่างกัน บางคนฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่โลดโผนมากก็จะเกิดสิวน้อย บางคนมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในอย่างมากก็จะทำให้เกิดสิวมากกว่า ทั้งนี้สิวในผู้ใหญ่ที่มาจากฮอร์โมนอาจมาจากความเครียด การนอนดึก ความกดดัน และการทำงานหนัก
4. สิว กรรมพันธุ์
หลาย ๆ อย่างที่อยู่ในร่างกาย เช่น สภาพผิว ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตลอดจนการเกิดสิว มักจะมาจากกรรมพันธุ์หรือการถ่ายทอดจาก DNA ยกตัวอย่างเช่น หากรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมีสภาพผิวมัน รุ่นลูกหลานก็มีโอกาสที่จะมีสภาพผิวมันได้เช่นกัน หรือหากรุ่นพ่อแม่เคยมีปัญหาสิวอย่างหนักในช่วงวัยรุ่น เมื่อถึงรุ่นลูกก็อาจจะมีโอกาสในการเป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น
5. ครีมบำรุงผิวหน้า หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
ผิวมันควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ตั้งแต่ คลีนซิ่ง โทนเนอร์ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ตอลดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะจะทำให้ผิวหน้ามันมากขึ้นและเกิดการอุดตันจากความมันส่วนเกิดได้ง่าย แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นคนผิวแห้ง ก็อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่หากอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็อาจต้องพักไปก่อน เพราะต่อมไขมันในช่วงวัยรุ่นมีขนาดใหญ่และผลิตน้ำมันได้มาก อาจทำให้เกิดความมันส่วนเกินได้ อาจต้องหามอยส์เจอไรเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันมาใช้แทน
6. ความเครียด
เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว โดยปกติจะหลั่งมากในช่วงเช้าและค่อย ๆ ลดน้อยลงในช่วงกลางคืนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน แต่หากเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอลออกมามากทำให้หลายคนนอนไม่หลับ อีกทั้งยังทำให้อยากทานอาหารหวาน ๆ อีกด้วย ซึ่งทั้งสาเหตุที่ร่างกายตื่นตัวในช่วงกลางคืน (ต่อมไขมันทำงานหนักขึ้น) และทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ล้วนแต่ทำให้เกิดสิวมากขึ้น
7. อาหารที่ทำให้เกิดสิว
อาหารเป็นตัวก่อให้เกิดสิวได้ หากเราทานอาหารดีก็จะทำให้เรามีผิวพรรณที่สวยงาม แต่ถ้าอาหารที่เราทานไม่ดีก็จะส่งผลเสียได้เช่นกัน อาหารที่ทำให้เกิดสิว ได้แก่
อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง
เมื่อเราทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (มีปริมาณน้ำตาลมาก) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ตรงนี้ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิว อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ช็อกโกแลต ขนมปังขาว เครื่องดื่มและขนมหวานต่าง ๆ
อาหารมัน
อาหารที่มีความมันมาก ๆ หรือ มีน้ำมันเป็นส่วนผสมเยอะ อาจไปเพิ่มไขมันที่อยู่ในร่างกายและมีผลทำให้เกิดความมันส่วนเกินบนใบหน้าได้จากการขับไขมันออกมาทางผิวหนัง อีกทั้งยังทำให้เกิดสิวอักเสบได้ง่ายอีกด้วย เพราะไขมันทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้มากขึ้น
นมวัว และ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว
นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย ครีม ทำให้เกิดสิวได้ เพราะในนมวัวมีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบอยู่หลายตัว หนึ่งในนั้นคือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต อาจไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาที่ผิวมากขึ้น เกิดการอุดตัน และเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสเตียรอยด์บางชนิดผสมอยู่ ซึ่งสเตียรอยด์เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดสิวได้
อาหารที่มีโอเมก้า 6 สูง
โอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง พบได้มากในข้าวโพดและถั่วเหลือง ในทางกลับกันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่ช่วยลดการอักเสบและลดการเกิดสิวพบในปลาและวอลนัท หากรับโอเมก้า 6 เข้าไปในร่างกายปริมาณสูง ก็จะทำให้เสียสมดุลระหว่างโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ในร่างกาย จึงอาจเกิดการอักเสบของผิว เกิดสิวอักเสบ และสิวหัวช้างได้
แอลกอฮอล์
หากร่างกายมีแอลกอฮอล์มากเกินไป ร่างกายจะขาดน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำก็จะทำให้โครงสร้างผิวอ่อนแอลง อีกทั้งร่างกายยังต้องขับแอลกอฮอล์ออกอีกด้วย จึงทำให้รูขุมขนเปิดกว้างเพราะต้องขับของเสียออก เมื่อรูขุมขนกว้างต่อมไขมันก็จะผลิตน้ำมันออกมาได้มากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างผิวที่อ่อนแอก็จะทำให้เกิดการอุดตันและเกิดเป็นสิวได้ง่าย
8. สิวขึ้น จากการทานยา
มีตัวยาหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้สิวขึ้นจากการทานยา เช่น
คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
เป็นยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจ ใช้รักษาในโรคที่เกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจ
ยากันชัก (Anticonvulsants)
เป็นตัวยาที่ใช้รักษาและระงับอาการชักแบบฉับพลันในโรคลมบ้าหมู โรคลมชัก และโรคอื่น ๆ
ยาเลิกสุรา หรือ ยาเลิกเหล้า (Disulfiram)
เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะติดสุราเรื้อรัง เมื่อมีแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ยาตัวนี้จะตอบสนองขับแอลกอฮอล์ออกทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หรืออาจหมดสติได้ และหนึ่งในนั้นก็คือทำให้เกิดสิว ทั้งนี้หากจำเป็นต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ก็ต้องใช้เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงและจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาตัวมาก่อนเป็นอันดับแรก
9. ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ
ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะในอากาศที่ไม่ดีก่อให้เกิดสิวได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อออกมาก มีความมันส่วนเกินบนใบหน้ามาก และต้องเจอฝุ่นละออง ก็จะทำให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้น เพราะในวันที่อากาศร้อนรูขุมขนจะเปิดกว้างและต่อมไขมันจะเพิ่มการผลิตน้ำมันให้มากขึ้นเพื่อปกป้องผิวไม่ให้เกิดอันตรายและเป็นการลดอุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลงด้วยการขับเหงื่อ น้ำมันจะจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดี เหงื่อจะเป็นตัวช่วยให้สิ่งสกปรกเข้าสู่รูขุมขนมากขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการอุดตันและเป็นสิว
10. การใช้ สกินแคร์
มีส่วนผสมบางตัวในครีมบำรุงผิว หรือ สกินแคร์ ที่อาจก่อให้เกิดสิว เช่น สเตีนรอยด์ พาราเบน แอลกอฮอล์ ซึ่งอาจเป็นสารที่ทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้อักเสบและเป็นสิว นอกจากนี้ยังอาจทำให้เป็นสิวโดยการอุดตันได้อีกด้วย เช่น การใช้สกินแคร์ในปริมาณมากเกินไปทำให้ซึมเข้าสู่เซลล์ผิวได้ไม่หมดและตกค้างอยู่ในรูขุมขนจนเกิดการอุดตัน
11. การกดสิว หรือ การบีบสิว
การกดสิว หรือ การบีบสิว นอกจากจะทำให้เกิดแผลเป็นจากสิวและรอยสิวแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดเป็นสิวที่ลุกลามขึ้นทั่วใบหน้าเลยก็ได้ หลายครั้งที่เมื่อเกิดสิวตุ่มขนาดเล็กบนใบหน้าก็อยากจะบีบหรือกดให้มันหายเร็ว ๆ แต่หากเล็บที่ใช้บีบสิวหรืออุปกรณ์กดสิวไม่สะอาด ก็จะทำให้สิวเกิดการติดเชื้อได้ อาจพัฒนาไปเป็นสิวตุ่มที่มีหนองร่วมหรือสิวตุ่มใหญ่ และหากรุนแรงกว่านั้นก็จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า สิวเห่อ ได้
12. เครื่องสำอาง
เครื่องสำอาง มักมีสารเคลือบผิวอย่าง สารเม็ดสี สารกันแดด ซิลิโคน สารกันน้ำและเหงื่อ ซึ่งสารเหล่านี้จะไม่ซึมเข้าสู่ผิว แต่จะเคลือบอยู่บนผิว และเมื่อเจอกับ โฟมล้างหน้า ที่พยายามจะทำให้สารเคลือบออกไปจากผิวแต่ทำไม่ได้และเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนแทน ซึ่งก้อนสารเคลือบสามารถเข้าไปอุดตันในรูขุมขนได้ ทำให้เกิดสิวและเป็นการปิดกั้นสารบำรุงไม่ให้ซึมเข้าสู่เซลล์ผิวได้อีกด้วย ดังนั้นก่อนล้างหน้าเราจึงต้องใช้คลีนซิ่งเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อน เพื่อป้องกันการเกิดสิว
สามารถดูสินค้าจริงได้ที่ Euphoria Thailand ทุกสาขา
วิธีรักษาสิว
วิธีรักษาสิวในปัจจุบันมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้นวัตกรรมความงามหรือเลเซอร์ประเภทต่างๆ ในการกำจัดสิวให้หายขาด หมดปัญหากวนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีวิธีรักษาสิวแบบธรรมชาติ ที่ทุกคนสามารถทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน ประหยัดค่าใช้จ่าย แถมยังปลอดภัยต่อสภาพผิวของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็สามารถนำวิธีรักษาสิวที่แนะนำไปใช้กันได้ สามารถแบ่งได้ตาม ปัญหาผิวได้แก่
1. ผิวมัน
สิวจากผิวมันโดยทั่วไปจะเกิดจากน้ำมันที่อุดตันอยู่ในรูขนขุมซึ่งทำให้รูขุมขนอุดตันและอักเสบ นอกจากนี้น้ำมันในรูขุมขนยังทำให้รูขุมขนเกิดการขาดออกซิเจนและเป็นที่เจริญเติบโตที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย วิธีรักษาสิวในผิวมันสามารถทำได้ดังนี้
- ล้างผิวหน้าให้สะอาด 2 ครั้งเช้าและเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือสบู่ล้างหน้าที่ช่วยลดสิวและควบคุมความมัน ห้ามล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้งเพราะจะทำให้ผิวหน้าสูญเสียความชุ่มชื้นและต่อมไขมันจะสร้างน้ำมันเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่สูญเสียไป
- ใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดหลังล้างหน้าเพื่อลดการอุดตัน
- แต้มสิวโดยใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide เพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมันบริเวณสิว ผลัดเซลล์ผิว และทำให้หัวสิวยุบตัว แต่ถ้าเป็นสิวอักเสบให้ใช้ในความเข้ามข้นที่น้อยก่อน เช่น 2.5% เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคือง หรือ อาจแต้มทิ้งไว้แค่ 5-10 นาที แล้วล้างออก
- ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและควบคุมความมัน
2. ผิวแห้ง
- ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้งต่อวันเช้าเย็นด้วยโฟมล้างหน้าที่ใช้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวแห้งหรือเจลล้างหน้า หลีกเลี่ยงสบู่ล้างหน้าเพราะอาจทำให้ผิวแห้งกว่าเดิม หลังล้างหน้าให้ใช้โทนเนอร์บำรุงที่มี วิตามินซี ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการ ผลัดเซลล์ผิว และเพิ่มความชุ่มชื้น
- ใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก หรือ Salicylic Acid ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกแต่จะไม่ลดไขมัน
- ทาครีมบำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น
3. ผิวแพ้ง่าย ผิวบอบบาง
- ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือเจลล้างหน้าหรือครีมล้างหน้าสูตรสำหรับผิวแพ้ง่าย แล้วต่อด้วยโทนเนอร์บำรุงที่มีสารบำรุงที่อ่อนโยนเป็นส่วนประกอบ
- ใช้ยาแต้มสิว Azelaic acid ลดเชื้อแบคทีเรียและละลายหัวสิวได้ดี แต่อาจต้องใช้ติดต่อกันนานหลายสัปดาห์กว่าจะหายเพราะออกฤทธิ์ช้าและอ่อนโยน
- อาจมาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคืองผิวและรักษาสิวสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น
4. ผิวผสม
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งเช้าเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือเจลล้างหน้าที่ช่วยควบคุมความมัน ให้ความชุ่มชื้น และลดการเกิดสิว แล้วใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดเช็ดผิวให้สะอาดหมดจด
- ใช้ยาแต้มสิว Benzoyl Peroxide เพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมัน ช่วยให้หัวสิวยุบตัวเร็วและผลัดเซลล์ผิว
- ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อรักษาและเพิ่มความชุ่มชื้น ควบคุมความมันส่วนเกิน
การรักษาสิวจาก ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
สิวเกิดได้จากหลายปัจจัยที่มาผสมกันทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในร่างกาย เหตุที่ทำให้เกิดสิวเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ P. acne กระตุ้นให้รูขุมขนบริเวณที่เป็นสิวมีการสร้างเคอลาติน (keratin) ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขนนั้นมากขึ้น กลายเป็นเม็ดสิว และสิวอักเสบได้ ซึ่งมีปัจจัยหลายประการเป็นตัวเสริมทำให้เกิดสิว ทั้งจากปัจจัยภายใน และจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่
1. สำหรับ วัยรุ่น
- ล้างหน้าให้สะอาด แต้มสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ และครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน
- งดอาหารหรือกิจกรรมที่อาจไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ของหวาน ของทอด การนอนดึก ความเครียด เป็นต้น
- งดทาครีมบำรุงที่อาจทำให้เกิดการอุดตัน
- งดแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางเพื่อลดการอุดตัน
2. สำหรับ ผู้ใหญ่
- ล้างหน้าให้สะอาด แต้มสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ อาจมาสก์หน้าบ้างเพื่อลดความเครียดให้กับผิวและเพิ่มความชุ่มชื้น
- ทานอาหารที่มีคอลลาเจนและโปรตีนสูง เช่น ปลา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิว
- งดอาหารที่มีน้ำตาลสูงเพราะหากทานน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้คอลลาเจนถูกทำลายซึ่งจะทำให้เกิดสิวได้ง่ายและเกิดริ้วรอยก่อนวัย
- งดแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางชั่วคราว
3. ปัญหาฮอร์โมน
- รักษาความสมดุลในร่างกายและระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่ดี โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ทานผักและผลไม้ที่หลากหลายในทุกวัน ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงอาหารหรือพฤติกรรมที่ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนมากขึ้น เช่น เครียด นอนดึก ทานของหวานมากบ่อย เป็นต้น
- หากเป็นสิวในช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือนให้รักษาตามอาการ แต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาด ห้ามกด บีบ หรือแกะเกาเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้สิวลุกลามหนักขึ้น
- หากผู้ชายที่เป็นสิวฮอร์โมนให้รักษาโดยการแต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาด ห้ามบีบ กด หรือแกะเกาสิว ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำมาก ๆ งดอาหารทอดและของหวาน
4. กรรมพันธุ์
- หมั่นดูแลใบหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้มีสิวเพิ่มขึ้น เช่น นอนดึก เครียด จับหรือสัมผัสหน้าบ่อย ๆ กดบีบสิว เป็นต้น
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้มาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ
- แต้มสิว มาสก์สิว และทามอยส์เจอไรเซอร์
5. ครีม หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
- หากเป็นสิวจากครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ให้งดการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ตัวนั้นไปก่อน
- ล้างหน้าให้สะอาด ใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดผิว มาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคือง ลดการอักเสบของผิว และลดการเกิดสิว ใช้ยาแต้มสิว และทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น
- หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น คลีนซิ่งน้ำมันเพื่อเช็ดเครื่องสำอางที่หลุดออกยาก อาจต้องใช้โฟมล้างหน้าและตามด้วยโทนเนอร์ทำความสะอาดเช็ดให้ผิวสะอาดอย่างหมดจด จากนั้นให้มาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคือง ลงครีมบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นเบา ๆ แล้วลงมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น
6. การกดสิวหรือการบีบสิว
- สิวที่เกิดจากการบีบสิวหรือกดสิวเกิดจากการติดเชื้อของสิวจนทำให้สิวอักเสบ เป็นหนอง หรือลุกลามมากขึ้น ต้องใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide ในสิวทั่วไป สิวอักเสบปกติ และสิวหัวหนองปกติ หรือใช้ Isotretinoin ในสิวที่เห่อกระจายมาก ดื้อยา ใช้ยาแต้มสิวทั่วไปแล้วไม่หายหรือสิวหัวช้างที่มีการอักเสบและไขมันมาก ห้ามใช้กับคนที่กำลังตั้งครรภ์และอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- รักษาความสะอาดของใบหน้า งดสัมผัสหรือจับผิวหน้าไปก่อน
การรักษาสิวจาก ปัจจัยเสี่ยงภายนอก
1. ความเครียด
หากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลายความเครียด เช่น ร้องเพลง ฟังเพลง ปลุกต้นไม้ ทำงานบ้าน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดความเครียด
2. อาหาร
งดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารทอดที่มีน้ำมันมาก แต่ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักและผลไม้ รวมถึงให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและปรับสมดุลในร่างกาย
3. การทานยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดสิว แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทานไม่ได้ ดังนั้นอาจต้องรักษาตามอาหาร ใช้ยาแต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ มาสก์ผิวหน้าเพื่อลดการระคายเคืองและลดสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และดื่มน้ำมาก ๆ
4. ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ
ใช้ คลีนซิ่ง โฟมล้างหน้า และโทนเนอร์ในการทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาดมากที่สุด เลี่ยงหลีกปะทะกับมลภาวะให้ได้มากที่สุด อาจสวมหมวกหรือกางร่มทุกครั้งเมื่อต้องออกไปข้างนอกอาคาร รวมถึงต้องใช้มอยส์เจอไรเซอร์และครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อปกป้องผิวจากมลภาวะ
5. สกินแคร์ บางประเภท
งดใช้สกินแคร์ตัวที่เราเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง พร้อมงดใช้สกินแคร์ไปก่อนชั่วคราวเพื่อให้ผิวได้ฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง ระหว่างนี้ให้มาสก์หน้าเพื่อบำรุงผิวและลดการระคายเคืองผิวแทน ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น
สามารถดูสินค้าจริงได้ที่ Euphoria Thailand ทุกสาขา
วิธีป้องกันสิว
สำหรับผู้ที่มีไม่มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เรื่องของสิวก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะสิวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานการณ์ ดังนั้นจึงต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดสิวบนใบหน้าและเรือนร่าง
แบ่งได้ตาม ปัญหาผิว
1. ผิวมัน
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม
- หลีกเลี่ยงการกำจัดความมันที่มากเกินไป เช่น ล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้ง เช็ดความมันออกด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าบ่อยมากในหนึ่งวัน เพราะจะทำให้ผิวหน้าขาดความชุ่มชื้นและต่อมไขมันจะยิ่งผลิตน้ำมันออกมาที่ผิวมากขึ้น
- ไม่ควรใช้โฟมล้างหน้าที่ทำให้ผิวหน้าแห้งตึง เพราะจะทำให้เกิดเป็นผิวมันแต่ขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหน้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีเหงื่อและความมันส่วนเกินมาก
2. ผิวแห้ง
- พยายามอย่าให้ผิวแห้งเกินไป เพราะอาจจะทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาชดเชยความชุ่มชื้น ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำเพื่อกักเก็บและเพิ่มความชุ่มชื้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เพราะแอลกอฮฮล์จะทำให้ผิวหน้าแห้งกว่าเดิม
3. ผิวแพ้ง่าย หรือ ผิวบอบบาง
- หลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว เช่น แอลกอฮล์ พาราเบน น้ำหอม หรือสารเป็นเบสมาก เพราะจะทำให้ผิวเกิดการอักเสบและเป็นสิวได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่อาจทำให้แพ้ หากช่วงไหนเป็นสิวก็อาจจะต้องงดการแต่งหน้าไปก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องแต่งหน้าทุกวันอาจต้องใช้มาสก์เพื่อลดการระคายเคืองผิว
4. ผิวผสม
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันผสม
- ดูแลส่วนทีโซน (หน้าผาก จมูก คาง) ให้สะอาด ไม่ควรกำจัดน้ำมันบนใบหน้าโดยการเช็ดออกหรือล้างออกมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้นและเกิดการผลิตน้ำมันมากขึ้น
- ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์ทุกวันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นบนใบหน้า เพราะผิวผสมมีทั้งส่วนที่เป็นผิวแห้งและผิวมัน
แบ่งตาม ช่วงอายุ
1. ช่วง วัยรุ่น
รักษาผิวหน้าให้สะอาด ใส่ใจดูแลผิวมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อย ๆ หรือการเช็ดหน้าเพื่อกำจัดความมันมากเกินไป และควรใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมและให้ความชุ่มชื้นก่อนออกจากบ้านทุกวันเพื่อลดการทำร้ายผิวจากสงแดดซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดสิว
2. ช่วง ผู้ใหญ่
รักษาโครงสร้างผิวให้แข็งแรง โดยการเติมคอลลาเจนและโปรตีนให้กับผิวเสมอด้วยอาหารที่มีคอลลาเจนและโปรตีนสูง เช่น ปลา ซุปที่ทำจากเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และเบอร์รี่ต่าง ๆ มาสก์หน้าเป็นประจำเพื่อให้ลดการระคายเคืองและเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงสร้างผิว และควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำทุกวันเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิว
รักษาสิว ด้วยตัวเอง
1. การทานอาหาร
ทานอาหารที่มีประโยชน์ สดใหม่ ทานผักและผลไม้เยอะ ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ งดดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทานปลาเป็นหลักเพราะมีโอเมก้า 3 สูง มีโอเมก้า 6 น้อย ไขมันต่ำ มีคอลลาเจน และทำให้ผิวแข็งแรง งดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ขนมปังขาว น้ำอัดลม เป็นต้น
2. สมุนไพรรักษาสิว
มาสก์สมุนไพรรักษาสิว อาจใช้ส่วนผสมต่าง ๆ ที่ชอบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาสิว เช่น มะเขือเทศ สับปะรด ขมิ้น ไพร มะนาว ดินสอพอง โยเกิร์ต มะขามเปียก เป็นต้น โดยให้มาสก์ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ไม่ควรมากส์ผิวหน้านานเกินไปจนมาสก์แห้งติดผิวเพราะจะทำให้ผิวหน้าเสียความชุ่มชื้น
3. สกินแคร์
ใช้ครีมบำรุงผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ไม่ควรทาครีมในปริมาณที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการตกค้างและอุดตัน หากมีผิวมันหรือผิวผสมควรหลีกเลี่ยงครีมบำรุงผิวที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมอย่างสิ้นเชิง
กลไกการเกิดสิว
ผิวหนังของคนเราจะมีต่อมไขมันอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งมีหน้าที่สร้างน้ำมันและไขมัน น้ำมันและไขมันที่ถูกสร้างขึ้นนี้จะถูกขับออกทางท่อน้ำมันซึ่งมีรูเปิดเดียวกับรูขุมขนเมื่อมีการกระตุ้นต่อมไขมัน น้ำมันและไขมันจะถูกสร้างมากขึ้น หากระบายออกจากท่อไขมันไม่ทัน จะเกิดการสะสมและค้างในรูขุมขน น้ำมันและไขมันก็จะกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังบริเวณดังกล่าวสร้างสารเคราตินมากขึ้น สารเคราตินก็จะจับตัวแน่นกับน้ำมันและไขมัน เกิดเป็นสิวอุดตัน ที่เรียกว่า โคมิโดน ต่อมาการอุดตันนั้นทำให้เกิดสภาพไร้ออกซิเจนในรูขุมขน แบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว หรือโพรพิโอนิแบคทีเรียม แอคเน่ จะเจริญเติบโตได้ดี และทำให้เกิดการย่อยสลายไขมันและเป็นจุดเริ่มต้นของสิวอักเสบ จะเห็นได้ว่าสิวมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าอก หลังช่วงบน ไหล่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ต่อมไขมันทำงานมา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิว
1. สิวฮอร์โมนคืออะไร?
สิวฮอร์โมน คือสิวที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่จะมีการสร้างฮอร์โมนเพศขึ้นในระดับที่สูงกว่าวัยอื่นๆ อย่างฮอร์โมน Testosterone ซึ่งจะกระตุ้นการผลิตไขมันที่ผิวหนังออกมาเยอะขึ้น ในปกติไขมันส่วนเกินจะสามารถระบายออกทางรูขุมขนได้ แต่ถ้าเกิดมีการอุดตันรูขุมขนก็จะก่อให้เกิดสิวอุดตันได้ และอาจพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบในที่สุด มักเกิดขึ้นบริเวณช่วงล่างของใบหน้าทั้งช่วงกราม คาง รอบๆ ปาก
2. สามารถรักษาสิวโดยไม่ต้องหาหมอได้ไหม?
ในกรณีที่ใบหน้ามีสิวในระดับความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ซึ่งลักษณะความรุนแรงคือ มีสิวอุดตันกระจายทั่วพื้นที่ มีสิวตุ่มหรือสิวหนองขึ้นมาประปรายแต่น้อยกว่า 15 เม็ด สามารถซื้อยาทาแต้มสิวจากร้านขายยาทั่วไปเพื่อทำการรักษาเบื้องต้นโดยไม่ต้องพบแพทย์ได้ แต่หากเป็นสิวรุนแรงคือสิวอักเสบมากกว่า 15 เม็ด หรือซื้อยาทาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง
3. กินช็อกโกแลตทำให้สิวขึ้นจริงหรือไม่?
ไม่จริง เพราะช็อคโกแลตที่มาจากโกโก้แท้ไม่ใช่ต้นเหตุของสิว แต่ตัวการที่ทำให้เป็นสิวก็คือส่วนผสมที่เพิ่มเติมลงไปในโกโก้อย่างน้ำตาลและนม เนื่องจากนมที่รับประทานยังคงมีฮอร์โมนวัวผสมอยู่ทำให้เกิดสิวรุนแรง ส่วนน้ำตาลเมื่อรับประทานเข้าไป จะทำให้อินซูลินในร่างกายเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการกระตุ้นให้ผลิตไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้น
สรุปได้ว่าหากรับประทาน Dark Chocolate จะมีโอกาสเกิดสิวน้อยกว่า Milk Chocolate เพราะมีปริมาณของนมและน้ำตาลน้อยกว่า
4. ทำยังไงให้สิวหายเร็วๆ?
ควรปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ เช่น จากที่รับประทานขนมหวานและคาร์โบไฮเดรตสูง ก็หันมารับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงและไขมันต่ำแทน หรือหากนอนดึกในทุกๆ วันก็ปรับเวลาการนอนให้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือการรักษาความสะอาดบริเวณที่เกิดสิวควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาแต้มสิว การทานยา หรือการรักษาด้วยเลเซอร์ไปพร้อมๆ กัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมการรักษาสิวให้หายได้ไวขึ้น
5. เป็นสิวแต่งหน้าได้ไหม?
หากไม่จำเป็นควรงดการแต่งหน้า แต่หากเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุด เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิวและไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดความเสี่ยงของการอุดตันในรูขุมขน และทำความสะอาดใบหน้าด้วยที่เช็ดเครื่องสำอางทุกครั้งก่อนล้างหน้าด้วยโฟมล้างหน้า
สรุป เรื่องสิวๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาสิวในแต่ละ สภาพผิว มีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ
- เมื่อรู้ว่าเป็นสิวให้งดการแต่งหน้าเพื่อลดการอักเสบของสิว หากจำเป็นต้องแต่งให้ทามอยส์เจอไรเซอร์ก่อนแต่งหน้า และเมื่อทำความสะอาดผิวหน้าก็ให้เช็ดด้วยโทนเนอร์และมากส์ผิวเพื่อลดการระเคืองผิวด้วย
- ใช้ยาแต้มสิวเพื่อลดอาการอักเสบของสิวและทำให้หัวสิวแห้งยุบ แนะนำให้ใช้ยาแต้มสิวในช่วงกลางคืนเพราะตัวยาบางตัวไหวต่อแสง อาจทำให้เกิดรอยดำได้
- ห้ามแกะ เกา บีบ หรือกดสิว เพราะอาจจะทำให้สิวระบมและเกิดการอักเสบมากขึ้น บางครั้งอาจกลายไปเป็นสิวอักเสบที่รุนแรงขึ้นหรืออาจมีหนองร่วมด้วย หรือหากมีการติดเชื้อหนัก ๆ ก็อาจจะทำให้สิวเห่อขึ้นกระจายทั่วทั้งใบหน้าได้
- รักษาความสะอาด ไม่จับหรือแตะสิวด้วยนิ้วหรือมือที่สกปรกเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ
- เมื่อสิวหายแล้วให้รักษาความสะอาดใบหน้าอย่างดี ทามอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดสิวซ้ำ
ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่ดีที่สุด “สกินแคร์ที่นิยมถูกและดี ระดับพรีเมี่ยม หน้าใส ลดรอย รักษาสิว แบบดาราเกาหลี”
เรื่องน่ารู้อื่นๆ
สาเหตุของการเกิดสิว และสิวเกิดจากอะไรบ้าง มาดูกันได้เลย
อ่านเพิ่มเติมพ.ย.
รีวิว สูตรวิธีมาร์คหน้าขาวใส ลดรอยสิว มาส์กหน้าได้ทุกวัน ไม่ต้องกลัวพัง กู้หน้าพังให้กลับมาสดใส มาดูให้รู้ จะได้ไม่พลาดอีก
อ่านเพิ่มเติมมี.ค.
ตามมาจากรีวิว pantip เรามาทำความรู้จักกันว่า เอสเซ้นส์ (Essence) คืออะไร?
อ่านเพิ่มเติมธ.ค.
ปกป้องผิวหน้าจากแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์ ทำผิวหน้าหมองคล้ำ ตัวการทำหน้าแก่ก่อนวัย ด้วยการทาครีมกันแดด
อ่านเพิ่มเติมธ.ค.
9 เคล็ดลับการดูแลสุขภาพผิวให้สวยใส ทั้งจากการทำความสะอาด ทาครีม การเลือกทานอาหาร และการพักผ่อน
อ่านเพิ่มเติมพ.ย.
เซรั่มไฮยาลูรอนเกาหลี ไฮยาลูรอน คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรในการบำรุงผิว
อ่านเพิ่มเติมเม.ย.
เครื่องสําอางเกาหลี แบรนด์ดังมาใหม่ที่สุดแห่งปี 2022 สำหรับผู้หญิงที่ถือคติ “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” ต้องช้อป กันค่ะ
อ่านเพิ่มเติมพ.ย.
การเกิดสิวมีสาเหตุหลักมาจากอะไร ที่เราควรต้องรู้ จะได้แก้ปัญหาและป้องกันการเกิดสิวได้ตรงจุด
อ่านเพิ่มเติมมิ.ย.
น้ำตบตัวช่วย อะไรก็พร้อม ถ้าผิวพร้อมให้ผิวหน้าขาวกระจางใส ผิวหน้าเด้ง และกระชับรูขุมขน
อ่านเพิ่มเติมธ.ค.
เซรั่มลดเลือนริ้วรอย ช่วยป้องกัน ได้ผลจริงหรือไม่ ราคาถูกและแพงผลลัพธ์ต่างกันมั้ย?
อ่านเพิ่มเติมก.พ.
วิธีการเลือกซื้อครีมกันแดดทาหน้า ที่ปกป้องเทพ ติดทนนาน สวยท้าแดด หน้าไม่ดำ สบายผิว ยังไงให้ต๊าซซซ
อ่านเพิ่มเติมธ.ค.
8 เทคนิคง่ายๆ ที่วิธีทำให้รูขุมขนหน้าเล็กลง เผยผิวหน้าเนียนสวยเป๊ะ
อ่านเพิ่มเติมมี.ค.
[เคล็ดลับ] ผลัดเซลล์ผิวด้วยสูตร “สครับหน้า” สวยง่ายๆ แบบใสปิ๊ง ช่วยถนอมผิวหน้าอย่างอ่อนโยน
อ่านเพิ่มเติมต.ค.
How to ขั้นตอนการดูแลผิวขาวใสให้ปังปุริเย่โดยวิธีธรรมชาติ
อ่านเพิ่มเติมก.พ.
อายครีม (Eye Cream) มารู้จักตัวช่วยสำคัญที่แก้ปัญหาเรื่องใต้ตาดำของสาวๆ
อ่านเพิ่มเติมพ.ค.
สาเหตุและปัญหาใต้ตาคล้ำเกิดจากอะไร มีวิธีการแก้ปัญหาขอบตาแพนด้าแบบง่ายๆกันอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมมิ.ย.
วิธีใช้ประโยชน์ของการใช้ทองคำบำรุงผิวหน้า แบ่งออกได้ใหญ่ๆ 10 วิธีทำสม่ำเสมอเพื่อความงาม ดุจคลีโอพัตรา
อ่านเพิ่มเติมเม.ย.
สิวคืออะไร สาเหตุและอาการของสิว มีอะไรบ้างมาทำความรู้จักกันเถอะ
อ่านเพิ่มเติมมิ.ย.
5 ประโยชน์ของวิตามินซี ที่เป็นส่วนผสมหลักอยู่ในสกินแคร์
อ่านเพิ่มเติมพ.ย.
มาดูเคล็ดลับ 10 วิธีดูแลตัวเองให้สวยขึ้นเปลี่ยนแปลงในแบบธรรมชาติ ที่ใครๆก็ทำตามได้ทุกคน !!!
อ่านเพิ่มเติมมิ.ย.